กิจกรรมและข่าวสาร

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ท่อนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านล่างนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านประหลาดใจ “เมื่อวันพุธฉันได้รับเกียรติให้เป็นผู้แจ้งให้พี่น้องของฉันทราบว่าฉันเองได้เป็นผู้สร้างสาธารณรัฐนั้นขึ้น และเมื่อมีวิกฤติการระดับชาติ ฉันก็ต้องยุบสภา ซึ่งฉันได้กระทำโดยเร็วที่สุดและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งนั้นก็เรียบร้อยและมีผลดีมากด้วย “พี่และน้องคงยินดีที่จะทราบว่า คณะผีเสื้อได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้น ผู้อื่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบ้าง อยู่พรรคเล็กพรรคน้อย ไม่มีความหมายอะไรเลย ดังนั้นฉันก็ต้องขอให้คณะผีเสื้อจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าคงจะไม่ปฏิเสธกันเป็นแน่ ฉันขอบอกว่าถ้าปฏิเสธ ก็เท่ากับว่าสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักระดับชาติ สาธารณรัฐใหม่จะคงอยู่ได้อย่างไร? มีเสียงข้างมากในสภา แล้วจะไปนั่งเป็นฝ่ายค้าน ไม่ไหวละ!” ข้อความข้างต้นมาจาก Letter to the Butterflies ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อคราวเสด็จประพาสออสเตรีย-ฮังการีใน พ.ศ. 2445 ขณะทรงพระชนมายุ 21 พรรษา โดยทรงใช้นามแฝง ‘Carlton H. Terris’ 78 ปีผ่านมา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ จดหมายถึงผีเสื้อ เมื่อ พ.ศ. 2523   คณะผีเสื้อที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คือชื่อพรรคการเมืองสมมุติ และแน่นอนว่าสาธารณรัฐ รัฐสภา หรือการเลือกตั้ง ยังไม่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองสยามเมื่อศตวรรษที่แล้ว แม้ทั้งหมดจะเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่ก็สะท้อนความรอบรู้และความเข้าใจในระบอบการปกครองในโลกตะวันตกของผู้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นอย่างดี เป็นที่น่าเสียดายว่าการปกครองที่ชนรุ่นหลังขนานนามว่าประชาธิปไตย มิได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นักคิดนักเขียนพระองค์สำคัญที่นักอ่านรู้จักในนาม น.ม.ส. กล่าวถึงพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 6 ในคำนำ หนังสือจดหมายจางวางหร่ำ ว่า   “พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรง ‘เล่น’ อยู่สามอย่างที่เห็นได้ชัด คือละครอย่างหนึ่ง สโมสรอย่างหนึ่ง ออกหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่ง” การเล่นทั้งสามประการมาบรรจบพบกันในการทดลองเพื่อแผ้วถางไปสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ในเมืองสมมุตินามดุสิตธานี   แบบเรียนสอนให้รู้จักดุสิตธานี (ที่ไม่ใช่โรงแรม) ในฐานะเมืองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ผู้คนจึงมักมองเมืองจำลองแห่งนี้ผ่านกรอบของการเมืองการปกครองเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจไม่น้อยหากลองสำรวจดุสิตธานีในมิติอื่นๆ ดูบ้าง   ก่อร่างสร้างเมือง : สวนมะม่วง-ชายหาด-ราชวัง 1 ปีให้หลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงสาธารณรัฐใหม่ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับ ณ ตำหนักสวนอัมพวา ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวังปารุสกวันในปัจจุบัน ณ ที่นั้นทรงสร้างเมืองตุ๊กตาที่ประกอบไปด้วยทิวแถวบ้านเรือน ถนนหนทาง สนาม และสวนสวย พระราชทานชื่อเมืองว่า ‘เมืองมัง’ อันน่าจะมาจากคำว่า ‘มังโก้’ (Mango) ที่เป็นความหมายของสวนอัมพวา ที่ตั้งของเมือง ซึ่งแปลว่า ‘สวนมะม่วง’ ณ เมืองแห่งนี้ ทรงกำหนดให้ข้าราชบริพารในพระองค์สวมบทเป็นชาวเมือง มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนเป็นครั้งแรก กิจการของเมืองมังสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ารัชทายาททรงย้ายไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์   11 ปีให้หลัง ในฤดูร้อน พ.ศ. 2461 เมืองจำลองกำเนิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร แพทย์หลวงจึงกราบบังคมทูลให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่หาดเจ้าสำราญ ในการเสด็จฯ ครั้งนั้นพระองค์ทรงสรงน้ำทะเลร่วมกับข้าราชบริพาร และได้ทรงแนะให้ข้าราชบริพารก่อทรายขึ้นเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยป้อมปราการ พระราชวัง บ้านเรือน และถนนหนทางขึ้น เมื่อเสด็จฯ กลับพระนคร พระองค์ทรงพระดำริให้สร้างเมืองจำลองขึ้นอีกครั้ง ณ พระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่าดุสิตธานี   It’s a small world รัชกาลที่ 6 ทรงให้ฐานะดุสิตธานีประดุจมณฑลหนึ่งในประเทศสยาม ประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลดุสิต ดอนพระราม บึงพระราม เขาหลวง ปากน้ำ และบางไทร หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้เป็นทวยนาครหรือพลเมืองคนหนึ่งของดุสิตธานีบันทึกไว้ว่า เมืองแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารขนาดย่อมกว่า 1,000 หลังคาเรือน อาคารเหล่านั้นจำลองมาในสัดส่วน 1 ต่อ 20    จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ทวยนาครอีกท่านหนึ่งกล่าวถึงขนาดของอาคารแต่ละหลังไว้ว่า “ขนาดโตกว่าศาลพระภูมิ” ทวยนาครผู้นี้ยังบันทึกรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมืองว่าประกอบด้วยศาลารัฐบาล (นาครศาลา) ป้อมปราการ (จำนวน 10 ป้อม) พระราชวัง วัด (จำนวน 6 พระอาราม) โรงพยาบาล (จำนวน 2 แห่ง) โรงเรียน (จำนวน 6 โรงเรียน) ธนาคาร โรงแรม โรงละคร หอนาฬิกา โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร ธนาคาร อนุสาวรีย์ โรงทหาร เรือนจำ กองดับเพลิง ตลาดสด โรงสีข้าว (ชื่อโรงสีโม่งโล่งฮั้ว) ร้านถ่ายรูป (ชื่อร้านฉายาดุสิต ฉายาบรรทมสินธุ์ และฉายาลัย) ร้านตัดเสื้อ (ชื่อร้านพึ่งบุญภูษาคาร) บริษัทก่อสร้าง (ชื่อบริษัทอรุณวงศ์วัฒกี) ร้านตัดผม (ชื่อร้านสุจริตเกษากันต์) บริษัทให้เช่ารถ (ชื่อบริษัทดุสิตสมัยยนต์) ร้านซักรีด (ชื่อ บริษัทภูษาสอาด) และบ้านเรือนอีกนับไม่ถ้วน   เรียกได้ว่าดุสิตธานีมีครบทุกองค์ประกอบที่เมืองเมืองหนึ่งพึงจะมี และสถานที่ที่หนึ่งก็มีทุกองค์ประกอบที่แสนจะจริงจัง จมื่นอมรดรุณารักษ์ให้รายละเอียดของ ‘วัชระพยาบาล’ ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลบางไทร ว่าประกอบไปด้วย ตึกพระราม 6 เป็นตึกบัญชาการ รับตรวจคนไข้ภายนอกและห้องจำหน่ายยา ตึกประสิทธิ์ศุภการ สำหรับเป็นโรงเลี้ยงเด็ก ตึกอนิรุธเทวา ตึกนารีเวชวิทยา ตึกอภัยราชา ห้องนอนคนไข้ ตึกธรรมาธิกรณ์ แผนกกายบริหาร ตึกปราณีเนาวบุตร์ แผนกรังสีแพทย์ ตึกสุจริตธำรง แผนกศัลยกรรม ตึกไพชยนต์เทพ แผนกตรวจเชื้อ ตึกวรสิท์เสวีวัตร โรงอาบน้ำร้อน ตึกพิทักษ์เทพมณเฑียร ห้องเก็บศพ ตึกนายแพทย์ใหญ่ จัดเป็นที่อยู่นายแพทย์ โรงรถ เป็นที่นั่งพักของคนไข้ ผู้ที่คิดว่าเมืองแห่งนี้สร้างเล่นๆ เป็นเมืองของเล่นอาจจะต้องคิดใหม่ อีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่านี่ช่างเป็นการละเล่นที่สมจริงสมจังแท้   สิ่งก่อสร้างในเมืองแห่งนี้ยังสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันหลายหลากด้วยฝีมืออันประณีตบรรจง (ปรากฏบันทึกว่าการก่อสร้างบ้านหลังหนึ่งให้งดงามนั้นอาจจะต้องใช้งบสูงกว่า 1,000 บาท ซึ่งเงินเดือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยในสมัยนั้นได้รับเพียง 20 บาทเท่านั้น) บทกวีชมความงามของดุสิตธานีที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของเมืองกล่าวถึงความงามของสถาปัตยกรรมนานาชาติไว้ด้วย   “พระตำหนักแบบแขกดูแปลกดี ชื่อเฟดราบานีดีหนักหนา หน้าตำหนักมีพุพุ่งธารา เป็นเทือกแถวแววตาน่าดูชม พระตำหนักแบบญี่ปุ่นสุนทรสิริ ทั้งน่าชมพุน้ำและธารงาม”     นอกจากตำหนักแบบแขกและญี่ปุ่นแล้ว ยังมีพระราชวังมหาคีรีราชปุระ สร้างเป็นปราสาทตะวันตกบนเนินเขา พระราชวังอังกฤษ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมทิวดอร์ พระที่นั่งจันทรกานต์จำรูญ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน และพระตำหนักเรือนต้น สร้างเป็นเรือนไทยโบราณ     สิ่งก่อสร้างหลายแห่งในดุสิตธานีจำลองแบบมาจากสิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร เช่น พระอุโบสถวัดธรรมาธิปไตย ที่ได้ต้นแบบมาจากพระอุโบสถวัดราชาธิวาส หรือพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ก็จำลองมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง     ในทางกลับกัน สิ่งก่อสร้างในดุสิตธานีก็กลายเป็นต้นแบบของสิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานครในกาลต่อมาด้วย อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสรณ์รำลึกถึงทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างขึ้นในดุสิตธานีก่อนที่จะสร้างจริง ณ มุมท้องสนามหลวง ถนน 22 กรกฎา อนุสรณ์แห่งวันที่รัชกาลที่ 6 ทรงนำสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลก สร้างขึ้นก่อนวงเวียนชื่อเดียวกันในกรุงเทพมหานครราว 6 เดือน (ที่น่าสนใจคือวงเวียนแห่งนี้มีรัศมี 22 เมตร และถนนทั้งสามสายที่รายล้อมวงเวียนได้ชื่อเป็นที่ระลึกถึงการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 คือถนนไมตรีจิตต์ มิตรพันธ์ุ และสันติภาพ) นอกจากขนาดทางกายภาพของเมืองจำลองที่ลดสเกลลงจากของจริง ในแง่มิติของเวลา วันเวลาของเมืองก็ถูกบีบอัดลงเป็น 1 ใน 12 ของเวลาจริง หนึ่งเดือนในเวลาปกติจึงเท่ากับระยะเวลา 1 ปีในดุสิตธานี   ใน พ.ศ. 2462 เมืองดุสิตธานีย้ายจากพระราชวังดุสิตไปยังพระราชวังพญาไท พร้อมกับพื้นที่ที่ขยับขยายมากขึ้นกว่าเดิมจากราว 2 ไร่เป็น 4 ไร่   All the world’s a stage : ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ จาก ตามใจท่าน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แปลจากบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างดุสิตธานีให้มีชีวิตโดยทรงชักชวนข้าราชสำนักราว 300 ท่าน ให้เข้ามาเป็นทวยนาคร เพื่อทดลองระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ หากมองความคิดนี้เป็นรูปแบบของการละคร อันเป็นงานอดิเรกที่พระองค์โปรด ดุสิตธานีก็เป็นละครเชิงทดลองที่ล้ำยุค และให้ประโยชน์ในเชิงการศึกษา เมื่อพิจารณาในบริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงซึ่งสิทธิ์ขาดในทุกมิติของการปกครอง การฝึกให้พลเมืองรู้จักสิทธิ์ของตน อันจะปูทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนจินตนาการไม่ออก ดังที่จมื่นอมรดรุณารักษ์บันทึกไว้ว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมประชาชนชาวนาครมาประชุมพร้อมกัน แล้วทรงอธิบายวิธีการเลือกตั้งขึ้นมาในวันแรกนั้น พวกข้าราชบริพารทุกคนแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็รู้สึกยังไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่รับสั่งในวันนั้น เพราะนึกในใจว่า อยู่ดีๆ อำนาจที่จะส่งผู้ใดก็ตามมาเป็นผู้บริหารในท้องถิ่นก็อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว เหตุใดจะมาทรงปล่อยให้คนอื่นเลือกเอาตามใจชอบอีกเล่า” อาจจะด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเปลื้องฐานะพระมหากษัตริย์แห่งดุสิตธานีออก และทรงอวตารลงมาสวมบทบาทเป็นทวยนาครถึง 2 ปาง คือ ‘นายราม ณ กรุงเทพ’ ทนายความและนักการเมืองผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม นายรามเป็นเจ้าของบ้านในดุสิตธานีถึง 15 หลัง โดยให้ผู้อื่นเช่า 12 หลัง อีกบทบาทของพระองค์คือ ‘พระรามราชมุนี’ เจ้าอาวาสวัดธรรมธิปไตย ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระองค์เองด้วย พระราชวังต่างๆ ในดุสิตธานีอย่างพระวัชรินทรราชนิเวศน์และที่ควรเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ในสำมะโนครัวดุสิตธานีปรากฏเพียงชื่อพระวิสูทธิ์โยธามาตย์ ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นคนเฝ้าพระราชวังเท่านั้น สังเกตได้ว่ามิติของการละเล่นและความเป็นจริงเป็นจังได้ทาบทับกับอยู่ตลอดในเมืองทดลองแห่งนี้   Siamese Utopia   ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เซอร์ โทมัส มอร์ (Sir Thomas More) นักคิดนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษเขียนเรื่องราวของเมืองในอุดมคติชื่อยูโทเปีย (Utopia) อันเป็นเกาะในจินตนาการประกอบไปด้วยเมืองที่สวยงาม 54 แห่ง แม้แต่งขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ผู้คนในยูโทเปียมีสิทธิ์เสรีในการเลือกผู้แทนของตนเองที่เรียกว่าไซโฟแกรนท์ (Syphogrant) เช่นเดียวกับในดุสิตธานี ที่ทวยนาครมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเชษฐบุรุษขึ้นมาเป็นผู้แทนของตน ชื่อเมืองยูโทเปียมาจากภาษากรีก แปลความได้ว่า ‘เมืองที่ดี’ แต่ในขณะเดียวกันก็แปลได้ว่า ‘เมืองที่ไม่มีจริง ณ แห่งหนใด’ ในทำนองเดียวกันกับดุสิตธานี ชื่อเมืองมีที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ดินแดนแห่งความดีงามทั้งปวง ซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันความดำรงอยู่จริงเช่นกัน   It’s a world of laughter   เพื่อให้กิจการของเมืองครบถ้วนยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้ออกหนังสือพิมพ์ในดุสิตธานีด้วย ฉบับที่เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดคือ ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ออกตัวไว้บนปกว่า “เป็นหนังสือพิมพ์ออกบ้างไม่ออกบ้างตามบุญตามกรรม” แต่เมื่อออกจริงก็ออกตรงเวลาทุกอาทิตย์ ท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ ที่น่าสนใจคือคำว่า ‘สมิต’ ในชื่อหนังสือพิมพ์ มีความหมายว่า ‘ยิ้ม’ บ่งบอกคาแรกเตอร์ของหนังสือพิมพ์ที่มีน้ำเสียงยั่วล้อ ดังที่เห็นได้จากภาพประกอบและคำประพันธ์ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังของทุกฉบับ     คลองสานที่ว่าก็คือ ‘หลังคาแดง’ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ ณ คลองสาน ในทุกๆ ฉบับของดุสิตสมิต รัชกาลที่ 6 จะทรงวาดรูปล้อข้าราชการผู้เป็นทวยนาครในดุสิตธานีด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์     บางเล่มก็ประกอบไปด้วยภาพที่อาจมองได้ว่าเป็นภาพยอพระเกียรติในรูปแบบของการ์ตูนล้อเลียนไปด้วยกัน     นอกจากเรื่องยั่วล้อแล้ว ในเล่มยังประกอบไปด้วยนานาสาระ ทั้งในส่วนที่เสริมสร้างความรู้ ส่งเสริมอุดมการณ์ความรักชาติ และส่งเสริมเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้นในทวยนาครด้วย รายได้จากการจำหน่าย ดุสิตสมิต นำไปสมทบทุนสร้างเรือรบหลวงพระร่วง ช่วยกิจการเสือป่าและโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในหน้าสุดท้ายของหนังสือพิมพ์จึงมักตีพิมพ์โฆษณาเพื่อให้ผู้อ่านร่วมอุดหนุนกิจการทั้งสองด้วย     All the King’s Men แม้ใน ‘ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล’ อันมีผู้เปรียบว่าเป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของไทย กล่าวถึงทวยนาครทั้งหญิงและชาย แต่ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการของดุสิตธานี ไม่ปรากฏว่ามีทวยนาครหญิงเลย ดุสิตธานีดำรงสถานะสโมสรชายล้วน คล้ายวิถีชีวิตแบบสโมสรสุภาพบุรุษ (Gentlemen’s club) อันเป็นวิถีชีวิตทางสังคมของชนชั้นสูงในอังกฤษ เป็นที่นิยมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมนี้เป็นอย่างดีจากการที่ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษเป็นเวลาเกือบ 10 ปี     สิ่งก่อสร้างหนึ่งในดุสิตธานีที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวิถีของเมือง คือโรงอาบน้ำร้อนที่ตั้งอยู่บนเขาหลวง อำเภอเขาหลวง ชวนให้นึกถึงโรงอาบน้ำของชาวโรมัน ที่เรียกว่า Thermae อันเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของอารยธรรมโรมัน โรงอาบน้ำในสมัยนั้นมิได้มีเพียงห้องอาบน้ำ แต่เปรียบเสมือน Community Mall ที่รวบรวมร้านค้า ร้านอาหาร Art Gallery ยิม สปา และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน ชาวโรมันมาที่โรงอาบน้ำเพื่อพบปะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และอีกกิจกรรมที่นำพาพวกเขามาพบกันที่นี่คือการอ่าน ห้องสมุดและห้องอ่านกวีเป็นส่วนสำคัญของโรงอาบน้ำที่ชายชาวเมืองจะแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้และเเลกเปลี่ยนทัศนะ อันเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การใช้สิทธิ์ใช้เสียง ใช้ความคิดวิจารณญาณในระบอบการเมืองการปกครองในระดับต่อไป   ดุสิตธานีปิดฉากลงหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าใน พ.ศ. 2468 กลายเป็นบทเรียนอันพร่าเลือนในประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งของดุสิตธานีได้รับการบูรณะและเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ แม้สิ่งที่หลงเหลือจะมีอยู่ไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะปะติดปะต่อให้เห็นภาพสะท้อนพระราชจริยวัตร ฉายแววพระราชดำริและพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์   ติดตาม ข่าวสารของนิทรรศการพระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6   บทความเกี่ยวกับเมืองจำลองดุสิตธานี เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ The Cloud เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓  https://readthecloud.co/dusit-thani-miniature-city-king-rama-vi/

อื่นๆ

การกลับมาพร้อมโฉมใหม่ของนิทรรศการพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้ง ร.6 และเมืองจิ๋วดุสิตธานีหลังปิดไป 6 ปี

ราว 25 ปีที่แล้ว ใน พ.ศ. 2537 พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิทรรศการที่จัดแสดงพระบรมรูปหุ่นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในพระอิริยาบถขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ อาคารทรงไทยหลังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินงานโดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการจัดสร้าง ‘พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ (คำว่าประทรรศนีย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้ตั้ง เป็นคำสันสกฤตมีความหมายว่า นิทรรศการ) อันเป็นโครงการในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาดเล็กในองค์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อดีตประธานกรรมการหอวชิราวุธานุสรณ์ และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นนิทรรศการที่ต่อยอดความรู้แก่ผู้เข้าชมได้ไม่จำกัด สืบสานพระราชปณิธานรัชกาลที่ 6 ในข้อที่ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษาเสมอมา ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นได้ชื่อว่าอุดหนุนชาติบ้านเมือง” ด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นิทรรศการที่เคยสร้างแรงบันดาลใจ และความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองจำต้องลดบทบาทและปิดให้บริการลงใน พ.ศ. 2556 หากสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือแก่นแท้ที่สำคัญมากกว่าอาคารสถานที่ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ผู้รับช่วงในการขับเคลื่อนความรู้ให้ออกเดินทางอีกครั้ง เล่าให้ฟังถึงการส่งต่อประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการอันร่วมสมัย ก่อนที่นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมในช่วงต้นปี 2563 (ส่วนจะเป็นเดือนไหน ต้องติดตาม) เรามาทำความรู้จักนิทรรศการนี้กันไปพลางๆ   การเดินทางของเรื่องราว “ผมย้อนดูในบันทึกของหม่อมหลวงปิ่นว่าท่านมีความมุ่งหมายต่อเรื่องนี้อย่างไร และดูในสูจิบัตรเดิมเมื่อครั้งเปิดพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ ครั้งแรกก็เห็นว่าหม่อมหลวงปิ่นท่านชัดเจนมากว่าเห็นความสำคัญของเรื่องราวมากกว่าสิ่งของ มีตอนหนึ่งที่ประทับใจมากคือ พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เป็นสถานที่เก็บของ แต่เป็นที่เก็บเรื่องราว” ลักษณะการนำเสนอพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ แบบเดิมนั้น พระบรมรูปหุ่นแต่ละองค์จัดแสดงอยู่ในแต่ละห้อง แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบฉากต่างๆ เหมือนขยายภาพสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ เป็นไปได้ว่า หม่อมหลวงปิ่นผู้ซึ่งเกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และมีประสบการณ์ร่วมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยตัวเอง คงจะพยายามถ่ายทอดให้เสมือนจริงมากที่สุด โดยคัดเลือกพระราชกรณียกิจที่สำคัญมากๆ และสิ่งที่ตกทอดมาในปัจจุบัน และในความทรงจำของตัวหม่อมหลวงปิ่นเอง เพื่อสร้างนิทรรศการพระบรมรูปหุ่น นิทรรศการเดิมจึงเกิดจาก 3 ส่วน คือภาพถ่าย ภาพจากความทรงจำของหม่อมหลวงปิ่น และภาพวาด ด้วยความเคารพในแนวทางที่หม่อมหลวงปิ่นและคณะทำงานตั้งต้นได้วางไว้ ทีมงานยุคปัจจุบันจึงตัดสินใจจะนำเสนอด้วยวิธีคล้ายเดิมไว้ คือคงความเป็นพิพิธภัณฑ์พระบรมรูปหุ่นไฟเบอร์กลาสและพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้ง ส่วนสิ่งที่เพิ่มเติมคือการให้ความสำคัญในการออกแบบพื้นที่ที่บรรจุเรื่องราวซึ่งเชื่อมโยงเข้าหากันได้หมดภายในพื้นที่จัดแสดง 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องนิทรรศการหลัก ห้องนิทรรศการหมุนเวียน และห้องอเนกประสงค์เพื่อกิจกรรมทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้จัดแสดงนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับเมืองจำลองดุสิตธานีอยู่ด้วย สตูดิโอออกแบบ be>our>friend รับหน้าที่ในการออกแบบห้องจัดแสดง จิตติให้เหตุผลว่า เพราะลายเซ็นสำคัญข้อหนึ่งของ be>our>friend คือการผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับงานร่วมสมัยได้น่าสนใจ  “ผมคุยกับทีมออกแบบเพื่อหาวิธีส่งผ่านเรื่องราวด้วยวิธีที่ไม่ตรงไปตรงมา คือไม่อธิบายทุกอย่างออกไปหมด แต่เราต้องการสร้างบรรยากาศให้รู้สึก คล้ายๆ กับแนวทางของการสร้าง Immersive Experience พอดีช่วงนั้นคือ พ.ศ. 2559 กำลังทำนิทรรศการเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีประเด็นเรื่องสีธงไตรรงค์ น้ำเงิน แดง ขาว ที่เราอยากจะพูดถึง ก็คุยกันว่าอยากให้สีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีธีม ห้องหลักคือพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ เป็นสีน้ำเงิน เพราะเป็นสีของพระมหากษัตริย์ และเป็นสีที่รัชกาลที่ 6 โปรดมากที่สุด ห้องสถานธีรนิทรรศน์จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเป็นสีแดง และห้องฉัฐรัชสารนิเทศหรือ Archive Room เป็นสีขาว   พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิทรรศการหลักที่ถือเป็นหัวใจของเรื่องเล่าทั้งหมดอยู่ห้องสีน้ำเงินซึ่งจัดแสดงพระบรมรูปหุ่นในพระอิริยาบถต่างๆ ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย ลักษณะการจัดวางแบบเดิมของห้องนี้คือพระบรมรูปหุ่นอยู่ในระดับปกติ เสมือนการซ้อนโลกเสมือนจริงกับโลกจริงเข้าด้วยกัน แต่มาครั้งนี้ ทีมงานเลือกดึงส่วนประกอบอื่นๆ ออก เปิดให้องค์พระบรมรูปหุ่นได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวอย่างเต็มที่ จิตติบอกว่า คล้ายๆ กับภาพเขียนของคาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ศิลปินชาวอิตาลี ที่ลดทอนรายละเอียดต่างๆ ออกให้เหลือแค่สิ่งที่สำคัญ แต่เล่าเรื่องราวได้โดยผู้ชมไม่ถูกจำกัดความคิด  นอกจากนั้น พระบรมรูปหุ่นยังถูกยกขึ้นเหนือระดับเดียวกับผู้ชม จัดองค์ประกอบให้คล้ายภาพที่พร้อมจะเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งยังสอดรับกับการนำชมรูปแบบใหม่ที่จะมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น นั่นก็คือแอปพลิเคชันนำชมนิทรรศการ “เราคิดถึงผู้เข้าชมหลายกลุ่ม เช่นเด็กๆ ที่อาจจะไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เรามีป้ายอธิบายอย่างย่อให้อ่าน แต่สำหรับผู้ชมที่มีอายุมากขึ้นหรือว่ามีความสนใจที่กว้างขึ้น เราก็มีแอปพลิเคชันเป็นเครื่องมืออ่าน AR อธิบายเจาะรายละเอียดในแต่ละชิ้น เช่น เหรียญตราหรือเข็มที่ติดอยู่บนฉลองพระองค์ แล้วก็มีเสียงบรรยายที่เนื้อหาต่างออกไป เพราะฉะนั้น การชมนิทรรศการโดยใช้แอปพลิเคชันก็อย่างหนึ่ง ชมแบบไม่ใช้เครื่องมือช่วยก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน” ความน่าสนใจไม่ได้หยุดเพียงกลวิธีการนำเสนอ แต่พระบรมรูปหุ่นทุกองค์และวัตถุจัดแสดง ตลอดจนอาคารจากเมืองจำลองดุสิตธานีไม่ใช่ของทำขึ้นใหม่ แต่เป็นของเดิมที่เคยจัดแสดงเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และบัดนี้ถูกทำความสะอาดและดูแลให้สมบูรณ์พร้อมเผยเรื่องราวในตัวเองอีกครั้ง “ถ้าย้อนอดีตไปสมัยนิทรรศการครั้งแรก การจำลองฉลองพระองค์ที่ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งฉลองพระองค์และเครื่องประกอบฉากของเดิมต่างๆ สำนักช่างสิบหมู่เป็นผู้ทำ และในสมัยก่อนหากมีการทำจำลองของเจ้านาย จะห้ามทำซ้ำเหมือนเป๊ะๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้แม้จะเหมือนของจริงมากๆ แต่ถ้าสังเกตดูจะพบว่ามีการบิดให้เพี้ยนไปจากความจริงเล็กน้อย เช่น พระสุพรรณราชคือกระโถนจะมีลายไม่เหมือนของจริง หรือพระชฎามหากฐินที่ทรงอยู่ก็มีจุดที่บิดให้ไม่เหมือนพระชฎาองค์จริง” รายละเอียดเล็กๆ น้อยที่ได้พบใหม่เกิดจากเทคโนโลยีที่ช่วยในการสืบค้นได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังอยู่ที่กำลังสำคัญของทีมงาน โดยเฉพาะ คุณเก้ง-ปฏิวัติ สุขประกอบ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะรัชสมัยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ “เก้งมาช่วยเรื่ององค์ประกอบ ฉลองพระองค์ เข็ม เหรียญตราต่างๆ เป็นทีมงานที่เราขาดไม่ได้ แม้แต่ลักษณะการก่ออิฐที่พระบรมรูปหุ่นวางศิลาพระฤกษ์ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก้งก็ไปค้นรูปเก่ามาดูจนแน่ใจว่าของเดิมวางอย่างไร หรืออย่างพระบรมรูปหุ่นขณะทรงติดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ธงไชยเฉลิมพลของทหารอาสาเมื่อกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 รูปเดิมที่เราเคยเห็นกันมาจากของหอจดหมายเหตุ เป็นรูปมุมเดียวไม่เห็นอีกมุมที่ทหารอีกคนยืนอยู่ กิ๊ฟ (กิตติธร เกษมกิจวัฒนา-ผู้ช่วยภัณฑารักษ์และผู้ดูแลเรื่อง Art Direction) ก็ไปเจอรูปเหตุการณ์เดียวกันนี้แต่เป็นอีกมุมจากห้องสมุดที่ปารีส ในรูปเห็นว่าทหารคนหนึ่งมีอะไรบางอย่างห้อยอยู่ที่ตัว เราก็ขยายภาพให้ใหญ่เพื่อดูชัดๆ เก้งก็บอกว่านี่คือมาลัยตัวซึ่งคล้องทหารอยู่ เราก็เพิ่มเข้าไป” ของจัดแสดงพิเศษอีกประการตั้งอยู่กลางห้อง คือพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาทในพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ในดุสิตธานี จำลองแบบมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง จิตติบอกว่าในทุกห้องจัดแสดงเขาเลือกอาคารจากดุสิตธานีตั้งเป็นศูนย์กลาง อันนำไปสู่ข้อสงสัยในใจใครหลายคนที่บอกว่าพระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 6 มีมากกว่าดุสิตธานี จิตติอธิบายประเด็นนี้ด้วยการตั้งคำถามกลับว่าแล้วดุสิตธานีคืออะไร แล้วเราเข้าใจดุสิตธานีดีพอหรือยัง   สถานธีรนิทรรศน์ ไม่เพียงสีแดงของห้องนี้จะแทนความหมายถึงชาติ หากยังเป็นสีสำคัญคู่กับขาวดังจะเห็นได้จากงานพระราชพิธีในสมัยโบราณของไทย ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิฯ คนปัจจุบัน อธิบายความหมายคู่สีแดงขาวว่าสื่อถึงพระบรมเดชานุภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนเรื่องลักษณะห้องหลังคาสูง มีช่องให้แสงลอดผ่านสู่ภายใน ออกแบบให้คล้ายคลึงกับบรรยากาศพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอังกฤษ ทั้งยังเชื่อมโยงกับพระราชประวัติของรัชการที่ 6 ที่ทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และรัชสมัยของพระองค์ซึ่งป็นช่วงเวลาที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตกพัฒนาอย่างกว้างขวางในไทย นิทรรศการหมุนเวียนสถานธีรนิทรรศน์ อ้างอิงจาก ‘วชิรนพรัตน์’ บทความของหม่อมหลวงปิ่น ที่เขียนขึ้นก่อนจะเริ่มต้นทำพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ ที่หอวชิราวุธานุสรณ์เสียอีก วชิรนพรัตน์นี้ หม่อมหลวงปิ่นอธิบายไว้ว่าหมายถึงแก้ว 9 ประการ แทนความถึงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและพสกนิกร “นิทรรศการวชิรนพรัตน์นี้ตั้งใจให้เป็นการแสดงความคารวะและ Homage ต่อหม่อมหลวงปิ่น เพราะถ้าไม่มีท่านเริ่มทั้งหมดนี้ไว้ก็คงจะไม่มาถึงตรงนี้ ผมได้รู้จักหม่อมหลวงปิ่นมากขึ้นจากบันทึกของท่าน ได้เห็นมุมมอง วิสัยทัศน์ ความจงรักภักดี และความเป็นสุภาพบุรุษ สำหรับผมถ้าจะดูว่ารัชกาลที่ 6 ทรงสอนคนอย่างไร ให้ดูที่หม่อมหลวงปิ่น ท่านเป็นคนที่รัชกาลที่ 6 ทรงฝึกสอนเรื่องต่างๆ ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด” บทความต้นฉบับของหม่อมหลวงปิ่น ภาพถ่ายเก่า และวัตถุจัดแสดงที่ขยายความแก้ว 9 ประการของรัชกาลที่ 6 คือแนวทางการจัดแสดงในห้องนี้ หลายชิ้นเป็นของที่ไม่อยู่ในทะเบียนวัตถุโบราณของหอวชิราวุธานุสรณ์ แต่เพิ่งค้นพบอีกครั้ง เช่น พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจิตติบอกว่าเขาให้เพื่อนๆ ศิลปินหลายสาขาช่วยกันตรวจสอบ และทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือภาพถ่ายที่รีทัชด้วยมือ ร่องรอยของงานมือแฝงอยู่ในการฝนสี ฝนกราไฟต์ลงบนภาพอย่างชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีภาพพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนล้อรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และทรงสังกัดอยู่ในกรมทหารราบเบา เดอรัม ในขณะนั้นเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกดัชต์ที่เรียกว่าสงครามบัวร์ในแอฟริกาใต้ จึงทรงลงพระนามสมัครไปร่วมรบแนวหน้ากับเพื่อนทหารในกรมเดียวกัน แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ยินยอม เนื่องจากทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งสยาม ที่จะต้องทรงขึ้นครองราชย์อีกไม่ช้านาน หม่อมหลวงปิ่นซื้อภาพพิมพ์นี้มาจากประเทศอังกฤษ ก็จะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย จิตติบอกเพิ่มเติมว่ายังมีภาพพิมพ์อีกภาพที่เพิ่งได้มาไม่นาน ซึ่งเชื่อมโยงกับพระบรมรูปหุ่นองค์หนึ่งในห้องนิทรรศการหลัก “พระบรมรูปหุ่นองค์หนึ่งทรงฉลองพระองค์นายพลทหารเรือ เรารู้มาว่าต้นแบบของพระบรมรูปหุ่นองค์นี้มาจากภาพวาดภาพหนึ่งในรัชสมัย แต่เราไม่เคยเห็นของจริง วันหนึ่งท่านผู้หญิงบุตรีก็ชวนผมไปเดินดูของที่ตึกแดง สวนจตุจักร แล้วก็ได้เจอภาพนี้ซึ่งมีลายพระราชหัตถ์ลงพระปรมาภิไธยไว้ หลังจากสืบค้นก็คิดว่าภาพพิมพ์ชุดนี้น่าจะทำขึ้นเพื่อจำหน่ายหรือมอบให้ผู้ที่ซื้อหรือบริจาคเงินสบทบทุนซื้อเรือพระร่วง เรือรบหลวงลำแรกของไทย” “ส่วนที่เป็นวัตถุจัดแสดงหลักๆ ในนิทรรศการวชิรนพรัตน์ ประกอบด้วยรอยพระบรมบาทจำลองที่รัชกาลที่ 6 โปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2462 เพื่อประดิษฐานไว้ในเมืองจำลองดุสิตธานี ต่อมาได้ตกทอดเป็นสมบัติของพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) และกลายเป็นต้นแบบหล่อรอยพระบรมบาทจำลองเพื่อเชิญไปประดิษฐาน ณ กองลูกเสือทั่วราชอาณาจักร ส่วนตรงกลางห้องก็มีพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญในดุสิตธานี ซึ่งจำลองแบบมาจากพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวังจัดแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ทั้งภาพถ่ายและของที่รวมอยู่ในนิทรรศการวชิรนพรัตน์ ก็จะทำให้เห็นอะไรหลายมิติเกี่ยวกับองค์รัชกาลที่ 6 ทั้งความเป็นปราชญ์ เป็นนักคิด ความเป็นนักประพันธ์ หรือความศักดิ์สิทธิ์ ก็ดูได้จากสิ่งของหลากหลายที่ประกอบกันในห้องนี้”   ดุสิตธานี เมืองแห่งปัญญา ถัดจากนิทรรศการหลักที่ชั้น 3 ของอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งนิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 4 คือ ‘นิทรรศการ 100 ปี ดุสิตธานี พุทธศักราช 2461’ รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นครั้งแรกในพระราชวังดุสิตเมื่อ พ.ศ. 2461 ใครหลายคนอาจยังสับสนเข้าใจว่าดุสิตธานีคือเมืองจริงๆ คนเข้าไปอาศัยอยู่ได้ หรือบ้างก็เข้าใจไปว่าเป็นเมืองที่เหมือนบ้านตุ๊กตา แท้จริงแล้ว ดุสิตธานีคือเมืองขนาดย่อส่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ราวๆ 2 ไร่ครึ่งระหว่างพระที่นั่งอุดรภาคและอ่างหยกในพระราชวังดุสิต มีสิ่งปลูกสร้างนับพันหลัง คละเคล้าหลากหลายทั้งปราสาทราชวัง วัด ที่ทำการรัฐบาล โรงพยาบาล ตลอดจนบ้านเรือนราษฎร  แม้ขนาดจะเล็ก คนไม่อาจเข้าไปอาศัยอยู่ได้จริง แต่การทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศาภิบาล อันมีระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นในธานีจำลองนั้น มีการปฏิบัติฝึกฝนและทดลองจริง โดยเหล่าทวยนาครหรือพลเมืองของดุสิตธานี ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ดังพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมุ่งเน้นให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารราชการได้ทดลองปฏิบัติจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่จริงในวันข้างหน้า “ทีมงานปรึกษากันครับว่าถ้าเล่าเรื่องแบบเดิมมันก็จะเหมือนที่เราเคยอ่านกันมาจากในหนังสือ รู้เท่ากับที่เคยรู้ เพราะฉะนั้นเราลองมาหาเฉพาะสิ่งที่หลักๆ ที่ควรจะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับดุสิตธานีดีไหม จึงมีการเสนอกันว่างั้นชวนนักออกแบบมาทำภาพประกอบซ้อนเนื้อหานิทรรศการด้วยน่าจะดี” ศิลปินผู้รับหน้าที่รังสรรค์ภาพประกอบก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากคือ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจร่วมสมัย เขาตีความดุสิตธานีและนำเสนอผ่านชิ้นงานที่แฝงด้วยส่วนประกอบต่างๆ จากเมืองดุสิตธานี สร้างความสนใจและสงสัยให้ผู้ชมคิดต่อ นอกจากนั้นแล้ว ยังนำอาคารอีกหลายหลังในดุสิตธานีมาจัดแสดงควบคู่ไปด้วย ล้วนแล้วแต่เป็นอาคารสำคัญที่เชื่อมโยงมาถึงสิ่งที่มีอยู่ในโลกจริงทั้งสิ้น เช่น พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ที่จำลองแบบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย ในสมัยโบราณเรียกว่าพลับพลาสูง ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ในท้องสนามไชย ดังเช่นเมื่อคราวทหารอาสากลับจากราชการสงครามที่ทวีปยุโรปก็เดินสวนสนามบนถนนสายนี้ หรือที่เพิ่งผ่านไปไม่นานคือเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ สีหบัญชรให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ส่วนอาคารอื่นๆ ก็มีเจดีย์ตราวชิระที่ผสมสถาปัตยกรรมของสุโขทัยเข้ามา และพระพุทธรัตนสถานหรือหอพระที่มีอยู่จริงในพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนั้นก็ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมจีนมาจัดแสดงในคราวนี้เพื่อให้เห็นว่าในดุสิตธานีมีความหลากหลายอย่างไรบ้าง ส่วนวัตถุจัดแสดงอื่นๆ ในห้อง ชิ้นสำคัญต้องยกให้ ประติมากรรมรูปคนวิ่งบอกข่าวชัยชนะในการศึก รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อว่า ‘ไชโย’ ผู้ที่ไปตามหาจนได้มาคือหนึ่งในศิลปินผู้ช่วยฟื้นฟูพระบรมรูปหุ่นและอาคารในดุสิตธานีให้กลับมาสดใสอีกครั้ง “รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในดุสิตธานี เราเคยเห็นแต่จากรูปภาพ ไม่เคยเห็นของจริง ก็บอก คุณบิ๊ก-ลักษณ์ คูณสมบัติ จากบริษัทเทวริทธิ์ศิลปากรว่าปั้นให้หน่อย คุณบิ๊กก็หาข้อมูลและวิเคราะห์กันว่าลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นงานปั้นของฝรั่ง และน่าจะเป็นงานช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า เข้าต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ปรากฏไปเจอประติมากรรมแบบเดียวกันนี้ในเว็บไซต์ประมูลของเก่าของเยอรมัน คุณบิ๊กก็เลยประมูลมา พอประมูลได้ปั๊บ ระบบล่มไปเลย (หัวเราะ) คุณบิ๊กก็ซ่อมแซมและมอบให้เราจัดแสดงที่นี่ ต่อมาตอนหลังก็ได้ข้อมูลมาเพิ่มอีกว่าประติมากรรมนี้ปั้นประมาณ ค.ศ. 1880 โดยศิลปินฝรั่งเศส ผลิตออกมาหลายชิ้นงาน นอกจากนั้น คุณบิ๊กยังทำอนุสาวรีย์ทหารอาสาแบบที่เราเคยเห็นแต่ในรูปอีกด้วย ซึ่งก็จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการดุสิตธานีนี้” “ผู้ชมอาจจะมาชมงานโดยมีลายแทงในใจมาก่อน แต่เมื่อมาแล้วได้พบอย่างอื่น เขาก็อาจกระโดดข้ามจากสิ่งที่เขาสนใจไปยังเรื่องอื่นได้ เช่น คุณมาดูดุสิตธานี แต่คุณได้มาเจอภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของดุสิตธานี มันก็สามารถนำพาไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป หวังอยากให้คนที่มาได้ประโยชน์หลายๆ อย่าง ถึงแม้ทุกวันนี้โลกเราจะโฟกัสที่โลกออนไลน์ แต่ผมคิดว่าที่ไหนก็ตามที่ยังมี Asset คือของที่ที่อื่นไม่มี นี่แหละคือทรัพย์สินที่สำคัญ แล้วก็อาศัยการถ่ายทอดออกไป ผมมองว่านี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจของการทำพิพิธภัณฑ์ครับ” หากใครสนใจศึกษา ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ ในรูปแบบ Curatorial Walk หรือการนำชมนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 6 โดยภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรศการต่างๆ จะมาเล่าถึงข้อมูลเบื้องหลังกว่าจะเป็นนิทรรศการที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งสำรวจ ‘วชิราวุธวิทยาลัย’ โรงเรียนที่รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนา เพื่อเรียนรู้การศึกษาและสถาปัตยกรรมของอดีตโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่มีอายุกว่า 109 ปี สามารถเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์สุดพิเศษได้ใน Walk with The Cloud 24 : The Philosopher King ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563 อ่านรายละเอียดทั้งหมดและสมัครร่วมกิจกรรมได้ที่นี่ ส่วนบุคคลทั่วไปที่อยากเข้าชม อดทนรออีกนิด ต้นปี 2563 นิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ บทความเกี่ยวกับหอวชิราวุธานุสรณ์และพระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ The Cloud เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒   https://readthecloud.co/vajiravudhanusorn-building/      

อื่นๆ