“...กระผมเสนอมา มิใช่เพื่อสดุดีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง แต่ได้เสนอมาเพราะคนไทยคนหนึ่งเป็นนักปราชญ์ และเมื่อได้รวบรวมพระราชนิพนธ์มาไว้แล้ว จะเป็นวัฒนธรรมชิ้นเอกหาเสมอเหมือนมิได้ แม้แต่ในต่างประเทศ…”
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตประธานกรรมการหอวชิราวุธานุสรณ์และอดีตประธานกรรมการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
อาคารทรงไทยหลังใหญ่ทางทิศเหนือของหอสมุดแห่งชาติชิดริมรั้วท่าว่าสุกรี คือ หอวชิราวุธานุสรณ์ สถานที่ซึ่งเก็บรวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ล้ำค่าของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ตลอดจนองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องในรัชสมัยของพระองค์ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่ประชาชนผู้สนใจ และเพื่อเผยแผ่พระเกียรติคุณอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติให้เห็นประจักษ์เป็นหลักฐาน ทั้งในรูปแบบของเอกสาร และนิทรรศการพระบรมรูปหุ่นในพระอิริยาบถขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญ
หอวชิราวุธานุสรณ์สร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อฉลองวาระ ๑๐๐ ปี วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ ๖ ตามหลักการอันเป็นสากลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่จะจัดงานเฉลิมฉลองแก่บุคคลสำคัญแขนงต่างๆ ในโลก ในวาระครบรอบอายุ ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี ซึ่งองค์การยูเนสโกยกย่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรมระดับโลกด้านอักษรศาสตร์ ด้วยทรงสร้างสรรค์วรรณกรรมทรงคุณค่าเป็นมรดกของชาติไว้เป็นจำนวนมาก พสกนิกรถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ หาใช่เพียงเป็นไปตามหลักการขององค์การยูเนสโกเท่านั้น แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่า ๑ ทศวรรษก่อนหน้า ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ การหารือเรื่องจัดสร้างสถานที่สำหรับถ่ายทอดเรื่องราวของ “ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยแห่งแรกของไทย ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างขึ้น ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดยเป็นการ “สัมมนาขนาดเล็ก” ของบุคคลเพียงไม่กี่คน ซึ่ง ๓ คนในจำนวนนั้นเป็นข้าราชบริพารของรัชกาลที่ ๖ ประกอบด้วย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) และจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)
ต่อมามีข้าราชบริพารคนอื่นเข้าสมทบเพิ่ม และทุกคนต่างตระหนักร่วมกันว่าพระราชกรณียกิจ และผลงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ นั้นมีมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ จึงสมควรยิ่งที่จะจัดสร้าง “ห้องสมุดพระมงกุฎเกล้าฯ” ขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมพระราชนิพนธ์แขนงต่างๆ สำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยกรมศิลปากรให้ห้องใหญ่ด้านเหนือบนชั้น ๓ ของหอสมุดแห่งชาติจัดเป็นห้องสมุดพระมงกุฎเกล้าฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินประเดิมสำหรับสร้างห้องสมุดพระมงกุฎเกล้าฯ ถึงสองครั้ง และเสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตรงกับวันพระบรมราชสมภพรัชกาลที่ ๖ ครบ ๙๐ ปี
กิจการห้องสมุดพระมงกุฎเกล้าฯ ดำเนินงานโดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคของบุคคลและองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ต่อมาได้เสนอว่าควรสร้างอาคารเป็นเอกเทศ โดยจะช่วยจัดหางบประมาณสำหรับการก่อสร้าง และขอให้ใช้นามอาคารว่า “วชิราวุธานุสรณ์” ทว่ายังไม่ทันได้ก่อสร้างก็เกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ขึ้นเสียก่อน การดำเนินงานต่างๆ จึงมีเหตุให้ต้องระงับไว้
เวลาล่วงผ่านจนใกล้วาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระบรมราชสมภพมากขึ้นทุกที หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช) ในขณะนั้น เสนอให้รัฐบาลจัดงานฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ของรัชกาลที่ ๖ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบและมีบัญชาให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ แต่ยังไม่ทันดำเนินการใดก็เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะรัฐมนตรีชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ และ ๑๐๐ ปี ของรัชกาลที่ ๖ ขึ้น โดยระบุคำสั่งสำคัญประการหนึ่งว่า
“ให้กรรมการคณะนี้จัดการฉลองโดยการก่อสร้างหอพระสมุดวชิราวุธานุสรณ์เป็นประการสำคัญ มุ่งหมายให้วางศิลาพระฤกษ์ได้ในวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการรวมทั้งการวิจัยได้ในวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี”
ด้วยเหตุนี้เอง ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งตรงกับวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบของรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จมาทรงวางศิลาพระฤกษ์ “หอพระสมุดวชิราวุธานุสรณ์” และการก่อสร้างก็ดำเนินเนื่องนับจากนั้น ควบคู่ไปกับงานส่วนการค้นคว้าและรวบรวมพระราชนิพนธ์ ลายพระราชหัตถ์ของรัชกาลที่ ๖ ตลอดจนสิ่งที่เกี่ยวข้อง นำมาวิเคราะห์ จัดสรร เก็บรักษา
ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีของรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาทรงเปิดอาคาร “หอวชิราวุธานุสรณ์” สถานที่ซึ่งพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สถิตอยู่เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนไทยตราบจนปัจจุบัน
หอวชิราวุธานุสรณ์มุ่งเน้นเผยแพร่ข้อมูลความรู้อันเกี่ยวเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ เพื่ออนุชนผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าและต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านบริการส่วนต่างๆ อันประกอบด้วย ห้องสมุดที่รวบรวมองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนบทพระราชนิพนธ์แขนงต่างๆ ห้องนิทรรศการถาวร “พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดแสดงพระบรมรูปหุ่นในพระอิริยาบถขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญ และห้องนิทรรศการหมุนเวียน “สถานธีรนิทรรศน์” อีกทั้งยังมีโรงละครศรีอยุธยา ห้องวรสมิตและห้องสวัสดิสมิต ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยสืบไป