“...ฉันยังหวังว่า จะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นประเทศสยามได้เข้าร่วมในหมู่ชาติต่างๆ โดยได้รับเกียรติและความสามารถอย่างจริงๆ ตามความหมายของคำนั้นทุกประการ…”
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานตอบลายพระหัตถ์สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงพระบรมรูปหุ่น ๑๐ องค์ ในพระอิริยาบถขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย พร้อมด้วยอาคารบางส่วนจากเมืองสมมุติ “ดุสิตธานี” อันสะท้อนถึงพระบรมราโชบาย ตลอดจนแนวพระราชดำริต่างๆ ในการบริหารและพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งยังประโยชน์ต่อประชาชนไทยตราบจนปัจจุบัน
พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เกริกไกรเป็นที่ประจักษ์ดีในระดับสากล องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม ทรงพระราชอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์อย่างยอดยิ่ง ปรากฏเป็นหลักฐานผ่านพระราชนิพนธ์จำนวนมากที่ตกทอดเป็นมรดกของชาติ พสกนิกรจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์
หากที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งใด คือ พระราชภารกิจในการนำพาประชาชนและบ้านเมืองให้วัฒนาสถาพรทัดเทียมอารยประเทศ พระปรีชาสามารถอเนกอนันต์อันปรากฏเป็นหลักฐานผ่านพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งแสดงถึงสายพระเนตรอันยาวไกลและเฉียบคม มิใช่เรื่องบังเอิญอันพึงจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากเกิดจากพระราชอุตสาหวิริยะในการเรียนรู้อย่างแน่วแน่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพระราชภาระอันใหญ่หลวงอันหมายถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรทั่วหน้า
พระราชประวัติเจ้าฟ้าผู้ทรงทั้งศาสตร์และศิลป์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
ขณะทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มศึกษาวิชาการต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง มีครูไทยและครูฝรั่งมาถวายพระอักษร เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และ นายโรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant) เป็นต้น
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๖ ขณะมีพระชนมายุ ๑๒ พรรษาเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาในต่างประเทศนั้นเจริญก้าวหน้ากว่าในสยาม
ระหว่างประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั่นเอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
“…ข้าพเจ้ากลับไปยังประเทศสยามเมื่อใด ข้าพเจ้าจะเป็นไทยยิ่งกว่าวันที่ออกเดินทางมา…”
พระราชดำรัสดังกล่าวเกิดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา ทรงตระหนักดีถึงพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรและบ้านเมืองที่รออยู่ในอนาคต กิจใดที่ทรงกระทำจะทรงคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศสำคัญเป็นอันดับหนึ่งเสมอ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชประสงค์จะทรงศึกษาวิชาทหาร ด้วยมีพระราชดำริว่า การที่ประเทศไทยถูกฝรั่งเศสคุกคามจนต้องเสียดินแดนไปใน ร.ศ.๑๑๒ เนื่องจากความอ่อนแอด้านการทหารเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบ แต่เนื่องจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะต้องเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาประชาราษฎร์ต่อไปในภายหน้า สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงศึกษาวิชาพลเรือนด้วย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ (The Royal Military Academy, Sandhurst) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๐ หลังทรงสำเร็จการศึกษา ทรงเข้ารับการฝึกหัดเพิ่มเติมในกรมทหารราบเบา ‘เดอรัม’ (Derham Light Infantry) สำหรับการศึกษาวิชาการด้านพลเรือน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด (Oxford) ทรงประจำอยู่ในวิทยาลัยไคร์สเชิร์ช (Christ Church) เมืองอ็อกซฟอร์ด ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๒ ถึง พ.ศ.๒๔๔๔
หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จนิวัตถึงราชอาณาจักรไทยใน พ.ศ.๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการกรมทหารบกราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ และนายพลเอกราชองครักษ์พิเศษ และจเรทัพบก และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในระหว่างที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๕๐ ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกิจได้อย่างดียิ่ง
ในช่วงเวลาที่ทรงสานต่อพระราชภารกิจนานัปการจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ยังทรงริเริ่มดำเนินการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยทรงสร้างเมืองจำลองขึ้นในบริเวณสวนอัมพวา พระที่นั่งจิตรลดา(เดิม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ สมมุติเป็นเมืองชื่อ ‘เมืองมัง’ ดำเนินกิจการอยู่ ๑ ปี ก็ยุติลงเนื่องจากพระราชภารกิจทบทวีมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ทรงรื้อฟื้นเมืองมังขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ.๒๔๕๐ ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเรือนแถวยาวขึ้น และทรงกำหนดให้มหาดเล็กและข้าราชบริพารพักอยู่ห้องละ ๒ คน ดำเนินการบริหารแบบนคราภิบาล (Municipality) มีคณาภิบาลหรือนายกเทศมนตรี โยธาภิบาล เลขาธิการ และเชษฐบุรุษหรือผู้แทนราษฎร อีกทั้ง ยังมีธนาคารชื่อ แบงก์ ลีฟอเทีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธนาคารออมสินในเวลาต่อมา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชอัธยาศัยโปรดงานศิลปะนับแต่ทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะการละคร เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วก็ทรงแสดงละครด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชนิพนธ์บทละครประเภทต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งละครพูด ละครร้อง ละครรำ ตลอดจนงานวรรณกรรมแขนงอื่น อาทิ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง โขน นิทาน สารคดี บทความในหนังสือพิมพ์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อทั้งในด้านให้ข่าวสาร แสดงความคิดเห็นและปลุกใจรักชาติ ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์อย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน พระราชอัจฉริยภาพฉายฉานเป็นที่ประจักษ์ผ่านพระราชนิพนธ์นับพันชิ้น
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในสยาม อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่พสกนิกร และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ อาทิ
การศึกษา : ทรงวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ไว้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ทั้งการศึกษาภาคบังคับ ให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน และพระราชทานกำเนิดการอุดมศึกษา ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเศรษฐกิจ : ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักการออมทรัพย์ อันจะส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม
การสาธารณสุข : ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วชิรพยาบาล สถานเสาวภา และสุขศาลาจำนวนมาก
การปกครอง : ทรงวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยผ่านเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชสำนักได้ทดลองและเรียนรู้การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศาภิบาล อันมีระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักสำคัญ โดยในเมืองจำลองนี้มีพรรคการเมือง รัฐบาล หนังสือพิมพ์ และมีการเลือกตั้งนคราภิบาลและเชษฐบุรุษซึ่งเปรียบเสมือนผู้แทนราษฎร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะนำการปกครองระบอบนี้ไปปรับใช้ในพื้นที่จริงต่อไป เป็นที่น่าเสียดายว่าเมืองดุสิตธานีนี้ได้สิ้นสลายไปหลังจากสิ้นรัชกาล
การต่างประเทศและความมั่นคง : ใน พ.ศ.๒๔๕๗ เกิดมหาสงครามหรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในทวีปยุโรป ไทยวางตัวเป็นกลางในช่วงต้นของสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฝ้าระวังและอ่านเหตุการณ์รอบด้านอย่างระมัดระวังยิ่ง ในที่สุดจึงมีพระบรมราชโองการประกาศสงคราม เข้าร่วมรบในฝ่ายเดียวกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ด้วยทรงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะบังเกิดแก่ประเทศและความเที่ยงธรรมของโลกเป็นส่วนรวม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบในสมรภูมิทวีปยุโรปด้วย และหลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงคราม ไทยในฐานะประเทศผู้ชนะจึงมีโอกาสได้เจรจากับมหาอำนาจหลายประเทศ เพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาช้านาน ทรงพระราชอุตสาหะอย่างยิ่งยวดที่จะกู้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจจนเป็นผลสำเร็จ ทรงนำประเทศก้าวเข้าสู่เวทีสากล มีสิทธิ์มีเสียงในเวทีโลกทัดเทียมอารยประเทศสมดังพระราชประสงค์
เสด็จสู่สวรรคาลัย
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอาการกำเริบประชวรด้วยพระโรคทางเดินอาหารขัดข้อง พระกระยาหารผ่านไปไม่ได้ พระอาการรุนแรงขึ้นในวันต่อๆ มา จนเกิดพระโรคโลหิตเป็นพิษในพระอุทร เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ พระชนมายุ ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี มีพระราชธิดาพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ก่อนสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตเพียง ๑ วัน